บทความเกี่ยวกับไปป์

ลิ้นแตก แสบลิ้น! ปัญหากวนใจของคนสูบไปป์

ลิ้นแตก แสบลิ้น! ปัญหากวนใจของคนสูบไปป์

ลิ้นแตก แสบลิ้น! ปัญหากวนใจของคนสูบไปป์


การสูบไปป์สำหรับบางคนก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับคนที่เพิ่งเข้าวงการบอกเลยว่าไม่ใช่ง่ายๆ เหมือนกัน เพราะนอกจากจะต้องทำความเข้าใจกับวิธีสูบไปป์แล้ว บางคนยังต้องเจอกับปัญหาลิ้นแตก เจ็บปาก แสบลิ้น หรือบางคนเรียกว่าลวกปาก ซึ่งก็เป็นหนึ่งในอาการของคนที่เพิ่งหัดสูบไปป์ใหม่ๆ และประสบการณ์ที่ว่านี้ ก็ทำให้หลายคนถอดใจ จนเลิกสูบไปเลยก็มี

Tongue Bite หรืออาการลิ้นแตก พบได้มากในหมู่นักสูบไปป์มือใหม่ สาเหตุหลักๆ มีอยู่ 2 อย่างคือ จากความร้อน และปฏิกริยาเคมี


o ปัญหาแสบลิ้นเพราะความร้อน จะเกี่ยวข้องกับการจุดสูบ โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มสูบไปป์จะมีปัญหาเรื่องการบรรจุยาลงในเบ้าที่ไม่พอดี และยังจับจังหวะการเลี้ยงไฟไม่ได้ ทำให้ต้องจุดไปป์บ่อย และต้องใช้แรงดึงควันซ้ำๆ หลายครั้ง เพื่อให้ยาเส้นไปป์ติดไฟ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวอีกที ลิ้นก็เจ็บไปแล้วเรียบร้อย

โดยส่วนใหญ่มือใหม่ มักใจร้อน และหงุดหงิดง่าย เมื่อไฟดับบ่อยก็ชักรำคาญ ผลคือจะพยายามทำทุกวิธีเพื่อให้ไฟติดได้เร็ว แต่ยาเส้นไปป์เปียกกว่ายาเส้นมวนบุหรี่ ดังนั้นจึงยากที่จะจุดแบบครั้งเดียวแล้วอยู่เลย ที่สำคัญคือยาเส้นไปป์ที่แต่งกลิ่นหอม Aroma จะมีความชื้นที่มากกว่าแบบไม่แต่งกลิ่น ดังนั้นการเลือกใช้ยาเส้นที่แห้งหน่อย ก็จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ในที่นี้อาจเอายาเส้นตัวเดิมที่มีมาผึ่งให้แห้ง หรือเลือกซื้อตัวที่เปียกน้อยหน่อยมาสูบก็ได้ ข้อดีของยาเส้นไปป์ที่มีความชื้นมาก คือมันสามารถให้กลิ่นที่ชัดกว่ายาเส้นแห้ง ดังนั้นคนสูบไปป์มานานส่วนมากจะชอบยาเส้นที่มีความชุ่มชื้นมากกว่า เพราะพวกเขาถือเป็นมือโปร ที่ไม่มีปัญหากับเรื่องการเลี้ยงไฟแล้ว

o ปัญหาแสบลิ้นเพราะปฏิกริยาเคมี จะเป็นเรื่องของค่า pH ค่าความเป็นกรด ด่าง ซึ่งสิ่งนี้ก็จะแบ่งแยกเป็นสองส่วนคือ ค่า pH ที่อยู่ในปาก กับ ค่า pH ที่อยู่ในตัวยาเส้นไปป์ โดยค่า pH จะไล่ไปตั้งแต่ 0 – 14 ค่าความเป็นกลางคือ 7 ถ้าตัวเลขอยู่ต่ำกว่า 7 ถือว่ามีค่าความเป็นกรด และถ้าสูงกว่า 7 ถือว่ามีค่าความเป็นด่าง และในน้ำลายของคนเรานั้นจะมีค่าอยู่ที่ 6.2 – 7.6

ในกรณีที่ค่าของยาเส้นไปป์กับน้ำลายของเราใกล้เคียงกัน ก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร แต่ถ้าแตกต่างกัน แน่นอนว่าจะต้องมีอาการระคายเคืองเกิดขึ้นมากน้อยตามมา คำถามก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ายาเส้นไปป์ Blend ไหน ไม่ทำให้เราแสบลิ้น คำตอบคือบอกค่อนข้างยาก เพราะ อย่างแรกเราจะต้องรู้ค่า pH ในน้ำลายของเราก่อน (ซึ่งแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน) จากนั้นต้องมาดูที่ยาเส้น ซึ่งสิ่งนี้ยิ่งทวีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เนื่องจากปัจจัยมากมายที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ใช้ใบยาพันธุ์ไหนบ้าง (แต่ละพันธุ์ก็มีค่าต่างกัน) ปลูกที่ไหน ใช้ดินอะไร มีวิธีการบ่มยาอย่างไร (วิธีการบ่มก็ทำให้ค่า pH เปลี่ยน) การใช้สัดส่วนมากน้อยเท่าไหร่ มีการแต่งกลิ่นเพิ่มเติมอะไรบ้าง ซึ่งส่วนนี้จะเป็นหน้าที่ของ Blender หรือคนผสมยาเส้นไปป์ ที่จะต้องทำให้ค่าความเป็นกรด - ด่าง หรือ กรด-เบส เหล่านี้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยการทดลองสูบด้วยวิธีที่แตกต่างกัน เพื่อหาจุดบกพร่อง และแก้ไขให้ได้สมบูรณ์แบบที่สุดก่อนวางจำหน่าย แต่ถ้าให้พูดรวมๆ ยาเส้นไปป์ที่มีค่า pH สูง (นิโคตินสูง) จะไม่ค่อยกัดลิ้น เช่น ยาเส้นที่มีส่วนผสมของ Latakia หรือพวก English Blend ส่วนยาเส้นที่มีน้ำตาลมาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลที่มีอยู่ในตัวเอง หรือเกิดจากปัจจัยเพิ่มแต่งอื่นๆ ก็ทำให้ค่า pH อยู่ในช่วงความเป็นกรด และก่อให้เกิดอาการลิ้นแตกตามมา ยิ่งถ้าเป็นนักสูบชาวไทยมือใหม่ จะเน้นเลือกยาเส้นไปป์ที่มีกลิ่นหอมหวานเป็นหลัก จึงเป็นผลให้เกิดอาการแสบปาก จนบางคนต้องเลิกสูบเลยก็มี สรุปคือจะต้องลองหลายๆ แบบจนเจอตัวที่เข้ากับตัวเอง แต่ถ้ากลัวเรื่องนี้จริงๆ ให้เลือกแบบไม่แต่งกลิ่นแนว Latakia ไว้ก่อนจะดีที่สุด

วิธีการแก้อาการเจ็บลิ้น แสบลิ้น ลิ้นแตก จากการสูบไปป์


จิบเครื่องดื่ม หรือกินขนม ที่มีค่า pH ต่ำ เช่น น้ำผึ้ง ดาร์กช็อกโกแลต ชา กาแฟ ชาเขียว ชาขิง หรือบางคนบอกว่า Biotene mouthwash ช่วยได้

สรุปวิธีการไม่ให้เกิดอาการ เจ็บลิ้น แสบลิ้น ลิ้นแตก จากการสูบไปป์

1. ทำให้ยาเส้นแห้ง
2. แพ็คยาเส้นไปป์ให้พอดี ไม่หลวมหรือแน่นจนเกินไป
3. ฝึกกดยาเส้นลงในเบ้าไปป์ให้พอดี
4. ดึงควันช้าๆ อย่าสูบถี่เกินไป
5. ดื่มอะไรระหว่างสูบ เช่น น้ำเปล่า หรือเครื่องดื่มที่มีค่าความเป็นกรดอ่อนๆ เพื่อสร้างสมดุล
6. ลองเปลี่ยนยาเส้นไปป์ เช่น พวก English Blend เพราะส่วนใหญ่ประเภทนี้จะไม่กัดลิ้น แต่ถ้าสูบคล่องแล้ว จะแบบไหนก็ได้
7. ทำความสะอาดไปป์อยู่เสมอ อย่าให้มีอะไรขวางทางลม โดยเฉพาะความชื้นที่เกิดจากทาร์ นิโคติน ให้ใช้อุปกรณ์ หรือลวดล้างไปป์ เขี่ยเศษขี้เถ้า หรือคราบที่ปิดช่องทางลมผ่าน จะได้ไม่ต้องใช้แรงดึงควันมาก
8. สูบไปป์ให้ช้าลง ในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างชื้น
9. ใช้ตัวจุดไฟที่มีความร้อนต่ำ เช่น ไม้ขีด เชือกขี้ผึ้ง (Hemp Wick)

 Chuck Stanion.(August 19, 2022). Tongue Bite: A Comprehensive Guide for Pipe Smokers. https://www.smokingpipes.com/smokingpipesblog/single.cfm/post/tongue-bite-comprehensive-guide-for-pipe-smokers

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *