เรื่องราว ของ ไปป์เซรามิก Porcelain Pipe กล้องยาสูบแนววินเทจ กับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ก่อนไปป์ไม้ Briar จะถือกำเนิด
บุกเบิกเส้นทางข้ามทวีป จากยุโรป ไปยังเอเชีย
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้น เมื่อ มาร์โค โปโล (Marko Polo) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นทั้งพ่อค้าวานิช นักสำรวจ และนักเขียน เดินทางตามเส้นทางสายไหม จากฝั่งตะวันตก มายังดินแดนตะวันออก การบุกเบิกเส้นทางของเขานั้น ไม่เพียงเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวทางวัฒนธรรม ประเพณี ของผู้คนในอีกซีกโลกหนึ่ง แต่ยังเป็นการนำเอา มรดกทางปัญญา ความรู้ และทรัพยากรใหม่ๆ จากอีกดินแดนหนึ่งมาให้ผู้คนในแถบตะวันออกได้ตื่นตะลึง รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา และต่อยอดความรู้ จนเกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ตามค่านิยมของชาวตะวันตก ซึ่ง ไปป์เซรามิก (Ceramic Pipe) หรือ Porcelain Pipe ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย
ของแปลกตาจากแดนไกล กลายเป็นของล้ำค่า
หลังจากที่ มาร์โค โปโล เดินทางกลับจากประเทศจีน เขาได้นำบางอย่างที่สวยงาม มีลักษณะขาวโปร่ง รูปร่างคล้ายกับแจกันขนาดเล็ก ติดมือมาด้วย ต่อมาไม่นานนัก สิ่งนี้ก็กลายเป็นของล้ำค่าที่ถูกใช้ในโบสถ์ วิหาร บรรดาชนชั้นสูง และเหล่าเศรษฐี ต่างก็ปรารถนาจะได้ของสิ่งนี้ไว้ในครอบครอง เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสถานะ และความมั่งคั่ง ร่ำรวย
แล้วทำไมต้องเป็นไปป์เซรามิก Porcelain?
เมื่อสินค้าเซรามิก พอร์ซเลน (Porcelain) ได้รับความนิยมในหมู่คนรวย แถมยังมีราคาแพง จึงมีผู้พยายามที่จะผลิตสิ่งนี้ออกมาวางขายบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าประเทศผู้คิดค้นอย่างจีน ไม่มีทางบอกสูตรลับนี้กับใคร จึงเป็นที่มาของการทดลอง ค้นคว้า วิจัย จนได้วัตถุดิบที่มีความคล้ายคลึงกับสินค้าของจีน ด้วยการนำดินเหนียว มาผสมกับ สารประกอบคือ ซิลิก้า (Silica) เมื่อวัตถุดิบมีพร้อม จึงได้มีการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ออกมา เช่น จาน ชาม ชุดชา กาแฟ รวมไปถึง “ไปป์” (Smoking Pipe) ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นที่แปลกใจอะไร เนื่องจากผู้คนในยุคนั้นก็นิยมสูบไปป์กันอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเยอรมัน และไปป์ที่มีวางขายโดยทั่วไปก็คือ ไปป์ดินขาว (White Clay Pipe) ไปป์ไม้ ไปป์โลหะ และไปป์ เมียร์ชอม (Meerschaum Pipe) เมื่อมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา เหล่านักสูบก็ไม่พลาดที่จะลอง
Porcelain คือ Ceramic?
เมื่อพูดถึงคำว่า “เซรามิก” (Ceramic) เชื่อว่าหลายคนก็จะนึกถึง เครื่องถ้วยชาม แจกัน แต่ที่จริงแล้วมันคือวัตถุดิบ ที่สามารถนำมาทำเป็นสิ่งของเครื่องใช้ และของประดับตกแต่งได้หลากหลาย โดยส่วนประกอบหลักที่ใช้ก็คือดิน ที่ผ่านความร้อนในอุณหภูมิสูง โดยมีส่วนประกอบอื่นๆ มาผสม ซึ่งสัดส่วนของการใช้สารประกอบ รวมไปถึงเทคนิคการทำ ระดับอุณหภูมิความร้อนที่ใช้ ล้วนทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง นั่นเป็นที่มาของการแบ่งงานเซรามิก ย่อยออกมาได้อีกหลายหมวดหมู่ และงานพอร์ซเลน(Porcelain) ก็เป็นอีกหมวดหนึ่งของงานเซรามิก ที่ได้รับความนิยม และเป็นที่ยอมรับในความสวยงาม เนื่องจากมีเนื้อสีขาว โปร่งแสง พื้นผิวเป็นมัน ไม่ดูดซึมน้ำ แข็งแกร่งเหมือนแก้ว มีความกังวาลในตัว ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ งาน พอร์ซเลน(Porcelain) จึงเป็นงานเซรามิกประเภทหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมในฐานะเครื่องใช้ ที่แสดงถึงฐานะทางสังคม เช่น ทางฝั่งยุโรปก็ปรากฎมีห้องจัดแสดงของใช้ ที่ทำจาก เซรามิกเคลือบ พอร์ซเลน(Porcelain) แบบนี้ในพระราชวังชาร์ลอตเตนเบิร์ก ในเยอรมัน ฝั่งประเทศไทยเอง ก็มีเครื่องถ้วยชามสังคโลก เครื่องเบญจรงค์ ที่ปัจจุบันยังเป็นสิ่งล้ำค่าหายาก ทั้งเรื่องของมูลค่า และคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้เอง ในสมัยที่วัตถุดิบนี้เพิ่งเข้ามาในยุโรป จึงมีผู้พยายามคิดค้นวิธีการทำ และเมื่อทำสำเร็จก็หวงสูตรไว้ ไม่ให้ความลับนี้แพร่งพรายไปเด็ดขาด!!
เมื่อมียุครุ่งเรือง ก็ถึงคราวเสื่อมถอย
ในช่วงเวลานั้น พอร์ซเลน (Porcelain) ไม่ได้เป็นแค่สินค้า แต่มันคืองานศิลปะที่มีแรงดึงดูดให้คนลุ่มหลง เช่นเดียวกับ Friedrich August I ( 1670 – 1733 หรือ August The Strong ภายหลังขึ้นครองราชย์ เป็นกษัตริย์โปแลนด์ มีพระนามว่า August II ) เจ้าผู้ครองแคว้นแซกโซนี ( Elector of Saxony ) ที่ให้การสนับสนุนนักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ นักเล่นแร่แปรธาตุ ให้คิดค้น วัตถุดิบที่เหมือนกับ พอร์ซเลน (Porcelain) จนประสบความสำเร็จ และได้ใช้ความพยายามอย่างหนักในการเก็บงำความลับทางการค้า ทั้งการใช้วัตถุดิบ และเทคนิคการทำ ถึงขนาดห้ามผู้คิดค้นสูตรก้าวออกจากปราสาทเลยด้วยซ้ำ แต่หลังจากนั้นได้ 10 ปี คู่แข่งรายแรกก็มา และก็ตามมาอีกนับไม่ถ้วน ทั้งจากยุโรป ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ เช็ก เดนมาร์ก ฮอล์แลนด์ ฮังการี อิตาลี รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อของที่เคยหายาก กลายเป็นของที่วางขายทั่วไป ความน่าสนใจก็ลดน้อยลง แต่ถึงอย่างนั้น ความสวยงามของ ไปป์เซรามิก Porcelain ก็ยังทำให้มันเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะในประเทศเยอรมัน
ไปป์เซรามิก Porcelain เหมาะในการใช้สูบไปป์หรือไม่?
ถึงแม้ว่ารูปทรง และสีสันจะสวยงามแค่ไหน แต่ต้องยอมรับว่า มันไม่ใช่ไปป์ที่ดีนัก จริงอยู่ที่มองแล้วดูสวย สัมผัสก็ลื่น มีความหนา กันความร้อน และมีน้ำหนักเบา แต่ข้อเสียคือ ไม่ดูดซึมน้ำ เนื่องจากผิววัสดุไม่มีรูพรุน มีความหนาแน่นมาก นี่จึงเป็นที่มาของการคิดค้นวัสดุอื่นๆ มาทดแทน พอร์ซเลน(Porcelain) และสุดท้ายมาเจอ ไม้บราย (Briar) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่เหมาะสมที่สุด และยังคงใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน
แก้ไขปัญหาไปป์ไม่ดูดซึมของเหลว ด้วยการทำไปป์ที่แยกชิ้นส่วนได้
เมื่อวัสดุแบบนี้ไม่ดูดซึมน้ำ นั่นก็แปลว่าผู้สูบจะต้องเจอกับปัญหาเสียงน้ำ และของเหลวระหว่างสูบ วิธีแก้ไขคือการแยกไปป์ออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งก็คือ ส่วนเบ้า (Bowl) ส่วนก้าน (Stem) และส่วนปากคาบ (Mouthpiece) โดยส่วนก้าน (Stem) จะมีลักษณะเป็นรูปตัว Y ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อของ เบ้า และปากคาบ เมื่อสูบยาเส้นจนมีของเหลวเกิดขึ้น ของเหลวจะไหลลงมาที่แอ่งรูปตัว Y ก่อนที่ควันจะถูกดึงขึ้นไปผ่านส่วน ปากคาบ ซึ่งความยาวของส่วนนี้ก็ทำให้ได้ควันที่เย็นขึ้นด้วย ส่วนใหญ่แล้วส่วน ปากคาบ (Mouthpiece) จะมีลักษณะยาวตรงขึ้นไปขนานกับเบ้า ในขณะที่ส่วนปลายสุดของ ปากคาบ (Mouthpiece) ก็จะโค้งนิดๆ คล้ายกับเครื่องดนตรี แซกโซโฟน
ไปป์สไตล์ Vintage ที่รูปทรงเหมือน แซกโซโฟนนี้ มีชื่อเรียกในภาษาเยอรมันว่า Gesteckpfeife แม้ว่าอาจจะดูแปลกตาไปบ้าง ถ้าเทียบกับรูปร่างของไปป์ในปัจจุบัน แต่ในสมัยนั้นถือว่าเป็นผลิตผลของการสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรม ระหว่างประเทศต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง รวมไปถึงการนำเอาความรู้และเทคนิคของประเทศเหล่านั้นมาปรับใช้ เช่น การใช้วัตถุดิบเป็นไม้ (โดยเฉพาะไม้ Cherry) บริเวณส่วนปากคาบ หรือ หลักการสูบผ่านน้ำ อย่าง ฮุกก้า (Hookah) บารากุ (Baraku) ชิชา (Shisha) ที่มีระบบการสูบที่ให้ปากคาบอยู่สูงขึ้นมา ในขณะที่มีแอ่งพักอยู่ด้านล่างระหว่างส่วนเบ้า (Bowl) กับ ปากคาบ (Mouthpiece) ก็เป็นสิ่งที่ชาวตุรกีใช้กันอยู่แล้ว
เป็นของสะสมประดับบ้าน หรือเอาไว้สูบจริง?
ด้วยเข้าใจว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของการใช้ ไปป์เซรามิก พอร์ซเลน (Porcelain) คือเรื่องน้ำระหว่างสูบ ทางผู้ผลิตก็พยายามคิดค้นวิธีการต่างๆ มากมาย จนท้ายที่สุดต้องยอมรับว่าพัฒนาต่อไม่ได้แล้ว ในมุมมองของคนยุคปัจจุบันอาจดูว่าไม่คุ้มค่ากับการเสียเวลา เพราะดูยังไงไปป์ที่ทำจากวัสดุแบบนี้ รูปทรงแบบนี้ ยังไงก็ไม่เหมาะกับการใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น พอร์ซเลน (Porcelain) คือของที่ไม่ธรรมดา แถมยังสามารถประกาศฐานะทางสังคมให้คนอื่นรู้เป็นนัยๆ ด้วย ว่าตนเป็นผู้มีอันจะกิน
ช่วงศตวรรษที่ 18 ส่วนเบ้าของไปป์แนวนี้ได้รับการพัฒนารูปทรง และสีสัน ให้หลากหลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเขียนภาพดอกไม้ รูปสัตว์ รูปศีรษะคน ลงบนเบ้า ซึ่งนอกจากจะมีไว้เพื่อเป็นของประดับตกแต่งแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงมุมมองทางการเมืองการปกครอง และสิ่งที่ทำไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ประจำรุ่น ประจำกลุ่ม ของบุคคลในสาขาอาชีพ หรือจากมหาวิทยาลัยหลายๆแห่งด้วย นอกจากนี้ไปป์ชนิดนี้ยังมีวางขายอยู่ในร้านค้า ซึ่งลูกค้าสามารถสั่งให้เขียนภาพ หรือตัวอักษร ตามแบบที่ตัวเองต้องการลงบนไปป์ได้ คนที่สูบไปป์เองก็มักจะมีไปป์แบบนี้ไว้ในครอบครองไม่ต่ำกว่าหนึ่งชิ้น และเป็นของที่ลูกค้ามักจะซื้อไปฝากเพื่อนฝูง หรือซื้อเป็นของที่ระลึกเมื่อเดินทางไปยังที่แห่งนั้น สำหรับเรื่องความยาวของตัวไปป์ จะอยู่ที่ราวๆ 30 -120 เซนติเมตร ซึ่งค่อนข้างเทอะทะ ส่วนจุดเชื่อมต่อของทั้ง 3 ส่วนก็มักทำจากไม้หลากหลายชนิด เขาสัตว์ กระดูก หรือแม้กระทั่งงาช้าง รวมไปถึงห่วงโลหะ อัญมณีมีค่า และการใช้เชือก หรือ โซ่ ในการคล้องส่วนต่างๆ ของไปป์เข้าไว้ด้วยกัน ส่วนบนของเบ้าก็มักจะมีฝาปิดโลหะ
จนมาถึงช่วงศตวรรษที่ 19 ที่วิวัฒนาการด้านการพิมพ์ภาพเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคม การวาดรูปด้วยมือบนภาชนะเซรามิก พอร์ซเลน(Porcelain) ไม่ว่าจะเป็นชาน ชาม แจกัน กล่อง ก็ถือเป็นงานศิลปะ ที่ดูมีรสนิยม นิยมใช้เป็นของสะสมประดับบ้าน แน่นอนว่าไปป์เซรามิก พอร์ซเลน(Porcelain) ที่ค่อนข้างใหญ่และเตะตานี้ ก็กลายเป็นไอเท็มแฟชั่น ให้คนในยุคนั้นได้อวดกัน ด้วยการพกติดตัวตอนออกนอกบ้านด้วย ซึ่งการสร้างสรรค์และออกแบบอันหลากหลายนี้ ก็ทำให้ไปป์เซรามิก พอร์ซเลน(Porcelain) กลายเป็นแฟชั่นในยุค ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะกับนักเดินทางชาวเยอรมัน แต่แล้วเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง กระแสความนิยมก็เริ่มซาลง
ไปป์เซรามิกในยุคปัจจุบัน
ในช่วงที่วัตถุดิบ พอร์ซเลน (Porcelain) เป็นที่นิยม ปรากฏว่ามีโรงงานที่ผลิตวัสดุนี้กว่า 1536 แห่ง และก็มีการส่งออกแบบเป็นล่ำเป็นสัน จนถึงจุดหนึ่งที่ผู้คนมองว่างานเซรามิกแบบนี้เป็นของโรงงานพื้นๆ สามารถหาได้ทั่วไป ราคาที่เคยแพงก็ถูกลงมาเรื่อยๆ จากเดิมที่ใช้วิธีการวาดรูปลงตัวไปป์ด้วยมือทีละชิ้น ก็เปลี่ยนเป็นการใช้เครื่องจักรพิมพ์ ประจวบกับที่มีการค้นพบไม้ “บราย” (Briar) ไม้ที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการใช้สูบไปป์ ทั้งเรื่องรูปลักษณะ คุณสมบัติ น้ำหนัก ความสะดวกในการใช้ นับว่าเป็นการปฏิวัติวงการคนสูบไปป์เลยก็ว่าได้
และนี่ก็คือ เรื่องราว ของ ไปป์เซรามิก Porcelain Pipe ในปัจจุบันนักสูบ ยังคงนิยมใช้ไม้ บราย (Briar) ในการสูบยาเส้น ส่วน ไปป์เซรามิก พอร์ซเลน (Porcelain) ก็ถูกมองเป็นไปป์แนว Vintage สมัยโบราณ ที่ให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงพัฒนาการ ของกล้องยาสูบในยุคก่อนๆ ซึ่งชื่อเรียกของไปป์ลักษณะนี้ ก็มีตั้งแต่ German Illustrated Pipe หรือบางครั้งก็เรียกตามลักษณะการแขวนเพื่อประดับกำแพง หรือ Vintage Wall Pipe เป็นต้น
“The European Porcelain Tobacco Pipe. Illustrated History for Collectors (2014)”
https://www.alpascia.com/moments/en/detail/108/porcelain-the-illustrated-pipe